ขมิ้นเครือ ๑

Fibraurea tinctoria Lour.

ชื่ออื่น ๆ
กำแพงเจ็ดชั้น (กลาง), เถาวัลย์ทอง (เพชรบุรี)
ไม้เถา เนื้อไม้และน้ำในเถาสีเหลือง ใบเรียงเวียน รูปไข่หรือรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่เถาหรือง่ามใบ ดอกแยกเพศต่างต้น ดอกเล็กสีเหลืองอ่อน ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปรีป้อม สีเหลืองหรือสีส้ม เมล็ดรูปรี

ขมิ้นเครือชนิดนี้เป็นไม้เถา เนื้อไม้และน้ำในเถาสีเหลือง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๗.๕ ซม. ยาว ๙-๑๘ ซม. โคนมน ปลายเแหลม ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่าและเส้นใบเห็นได้ชัดเจนกว่า เส้นใบมี ๓ เส้น เส้นแรกมักอยู่ใกล้โคนใบ ก้านใบยาว ๔-๑๑ ซม. โคนก้านและปลายก้านพองเล็กน้อย

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่เถาหรือง่ามใบ ยาว ๑๐-๓๐ ซม. ดอกขนาดเล็ก สีเหลืองอ่อน ก้านดอกสั้น ดอกเพศผู้กลีบรวมมี ๒ วง กลีบวงนอกเล็กมาก มี ๒-๓ กลีบ กลีบวงใน ๖ กลีบ รูปไข่ป้อม ยาว ๑-๒ มม. เกสรเพศผู้เล็กมาก มี ๖ อัน ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูมี ๒ ช่อง ดอกเพศเมีย คล้ายดอกเพศผู้ มีเกสรเพศผู้เป็นหมัน ๖ อัน รังไข่อยู่หนือวงกลีบ มี ๓ อัน แยกกัน

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ช่อผลยาว ๑๐-๕๐ ซม. ก้านผลสั้น ผลรูปรีป้อม กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. สีเหลืองหรือสีส้ม เมล็ดรูปรี กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม.

 ขมิ้นเครือชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้และภาคตะวันออก ขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๑๕๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 รากและลำต้นใช้เป็นยาแผนโบราณเพื่อบำรุงร่างกายและเป็นยาขับปัสสาวะ (Perrylm and Metzger, 1980) ประกอบด้วยสารประเภทแอลคาลอยด์ในกลุ่ม isoquinoline ได้แก่ palmatine, jatrorhizine, columbamine, tetrahydropalmatine, tetrahydrojatrorrlizine, pseudojatrorrhizine, magnof pseudocolumbamine, dehydrocorydalmine และ palmatrubine (Siwon et al, 1987)

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขมิ้นเครือ ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Fibraurea tinctoria Lour.
ชื่อสกุล
Fibraurea
คำระบุชนิด
tinctoria
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1717-1791)
ชื่ออื่น ๆ
กำแพงเจ็ดชั้น (กลาง), เถาวัลย์ทอง (เพชรบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์ และ รศ.กัลยา ภราไดย